6/10/53

บทความดีๆ สิบกว่าปีที่ผ่าน

10 ปีที่แล้วบทความของผมชื่อ “กว่าง” ปรากฏครั้งแรกในนิตยสารชื่อ ข่าวพิเศษ ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน2534 ต่อมา บทความดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือชื่อ “มาจากล้านนา” (พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2536, พิมพ์ครั้งที่สอง มกราคม 2538) แทบไม่น่าเชื่อว่าบทความดังกล่าวจะผ่านฝนฟ้ามาแล้วถึง 1 ทศวรรษเศษ

10 ปีผ่านไป แม้กว่างจะยังคงเป็นกว่าง กว่างซ้งกับกว่างฮักยังคงมีเลือดนักสู้ทุกขุมขุน ยังคงต่อสู้และสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ชมอย่างไม่เปลี่ยนแปลง กว่างตัวเมียที่เรียกว่าแม่อู้ด ยังคงถูกจับยัดในรูเล็ก ๆ กลางไม้คอน เพื่อปลุกเร้าหัวใจของนักสู้ทั้งหลาย เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กชายจำนวนมากในล้านนายังคงนิยมเลี้ยงกว่างตลอดช่วงหน้าฝนแต่บริบททางสังคมหลายต่อหลายอย่างที่เปลี่ยนไปนั้น แน่นอนว่า บัดนี้ได้เวลาที่เราต้องพูดถึงกว่างกันอย่างจริงจังอีกสักครั้ง

สายของวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2545 ป้านภาก้ม ๆ เงย ๆ ตัดต้นอ้อยเป็นท่อน ๆ อย่างทะมัดทะแมง เธอนำอ้อยที่ตัดแล้วมาวางเรียงเป็นระเบียบบนโต๊ะ อ้อยแต่ละท่อนยาว 1 ฟุต ท่อนที่ผอมหน่อยราคาท่อนละ 2 บาท หรือ 7 ท่อน 10 บาท อ้วนขึ้นหน่อยก็ 3 บาท หรือ 4 ท่อน 10 บาท และที่อวบอ้วนเต็มที่ราคาท่อนละ 5 บาท

ส่วนโต๊ะอยู่ข้าง ๆ มีกว่างเกาะท่อนอ้อยตัวละท่อน ทั้งหมดมีกว่าง 20 กว่าตัว และมีท่อนอ้อยที่มีกว่างเกาะอยู่แขวนบนราวลวดอีก 10 กว่าตัว ท่อนอ้อยที่กว่างเกาะและวางบนโต๊ะ มีไม้ไผ่เหลาเสียบอยู่ ท่อนละ 2 อัน เพื่อให้อ้อยแต่ละท่อน เชิดหัวขึ้นเหมือนปืนใหญ่ และอวดกว่างที่เกาะอยู่บริเวณปลายอ้อย


ลุงอ้วนผู้เป็นเจ้าของกว่างและเป็นสามีของป้านภา นั่งอ่านหนังสือภายในเพิงอย่างสบายอารมณ์ ยามที่คนที่แวะเวียนมาชมกว่างและซื้ออ้อยมีเพียงสองสามราย

ป้านภาบอกว่าวันเสาร์อาทิตย์ มีคนมาไม่มากนัก เนื่องจากมีบ่อนกว่างเปิดหลายแห่งผู้คนจึงไปชมการชนกว่างกันหมด เหลือแต่นักเล่นกว่างสมัครเล่น ประเภทเยาวชน และพ่อแม่ที่หยุดงานวันสุดสัปดาห์พาลูกหลานมาชมและหาซื้อกว่าง อ้อย และอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับกว่าง

ตามเสาจะมีป้ายเล็ก ๆ ประกาศว่าบ่อนกว่างเปิดแล้ว เดินสำรวจจนทั่วก็พบว่ามีประกาศเพียง 2 ใบ ใบแรกประกาศว่าบ่อนกว่างถนนแม่โจ้ใหม่ หลังห้องเย็นแหลมทองเปิดบริการแล้วทุกวันพุธ-เสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน เป็นต้นไป อีกใบหนึ่งเป็นบ่อนกว่างแม่ก๊ะใต้ ตำบลตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด ไม่ไกลนักจากบ่อสร้าง สันกำแพง โดยเปิดบริการทุกวันเสาร์อาทิตย์ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนเป็นต้นไป

ที่เล่ามานี้คือตลาดขายกว่าง อ้อย และอุปกรณ์ต่าง ๆ นับเป็นตลาดแห่งเดียวของเมืองเชียงใหม่ในขณะนี้ตั้งอยู่บนถนนทุ่งโฮเต็ล ตรงข้ามที่ทำการชลประทาน และไม่ไกลนักจากสถานีรถไฟเชียงใหม่

ป้านภาผู้เป็นโต้โผสำคัญของตลาดแห่งนี้เล่าว่าเธอเช่าที่ดินผืนนี้ขนาด 100 ตารางวาเศษมาจากนักธุรกิจรายหนึ่ง โดยเช่าที่ดินผืนนี้มาแล้ว 2 ปี ปีละ 3 เดือนจากเดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม อันเป็นเวลาที่กว่างสมควรกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ตลาดกว่างแห่งนี้เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมา คนที่มีกว่าง อ้อย และอุปกรณ์ต่าง ๆ มาขายก็สามารถนำสินค้ามาวางได้ตลอดทั้งวันและทุกวัน โดยจ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้แก่ป้านภาวันละ 20 บาท

สายของวันจันทร์ที่ 23 กันยายน ผมไปเยี่ยมเยือนตลาดกว่างแห่งนี้อีกครั้ง มีคนเดินไปมาราว 10 กว่าคน ป้านภากำลังใช้มีดปอกเปลือกอ้อยให้แก่ลูกค้า ส่วนลุงอ้วนกำลังนั่งอ่านหนังสืออย่างสบายอารมณ์เช่นเคย

สายวันนี้ มีพ่อค้าแม่ค้าทั้งหมด 9 ราย ขวาสุดคือป้านภาขายอ้อย และอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงกว่างและชนกว่าง ได้แก่ กาบกล้วย (ใช้ห่อหุ้มกว่างที่เกาะท่อนอ้อย โดยทั่วไป กว่างที่ได้รับบริการนี้ต้องเป็นกว่างที่มีราคาเป็นกว่างเดิมพัน) ไม้ผั่นกว่างซึ่งมีหลายแบบด้ายหลากสีสันสำหรับมัดเขากว่างและผูกเข้ากับไม้แกะสลักสวยงามซึ่งมีหลายแบบ เช่น ขนเม่น กระดูกควาย เขาควาย และไม้ชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะไม้สักและไม้กระถิน ไม้แกะสลักเหล่านี้ปักไว้กับท่อนอ้อย

รายที่สองคือลุงอ้วน ลุงอ้วนนำกว่างราว 20 กว่าตัววางขายบนโต๊ะเตี้ย ๆ นอกจากนี้ ยังแขวนท่อนอ้อยที่มีกว่างเกาะอยู่หลายท่อนตัวที่อยู่บนโต๊ะตัวละ 50 , 70 จนถึง 100 กว่าบาท ส่วนที่แขวนอยู่นั้นแต่ละตัวมีราคาถึง 1,000 บาท แสดงว่าผ่านการต่อสู้และชนะเดิมพันมาแล้ว

รายที่สามเป็นหนุ่มเชียงใหม่ ขายกว่าง 7-8 ตัว บอกว่ากว่างเหล่านั้นมาจากเหมือนจี้ลำพูน ตัวละ 30-40 บาท รายที่สี่เป็นหนุ่มลำพูน วางกว่างบนโต๊ะ 10 กว่าตัว บอกว่าเป็นกว่างใหม่เอี่ยม ยังไม่เคยชนกับใครเลย มาจากอำเภอดอยเต่า กว่างของเขามีที่มาจากหลายแห่ง ขึ้นอยู่กับว่ามีใครนำมาส่ง เช่น อำเภอลี้ ลำพูน หรือดอยเต่า หรือป่าซาง หรือแจ้ซ้อน ลำปาง

เพิงถัดไปอยู่ตรงกลางตลาด ลุงวรรณบ้านอยู่แม่คาวไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยพายัพขายไม้ผั่นกว่างอย่างเดียว ไม้ผั่นนับร้อยอันที่วางอยู่บนโต๊ะ มีหลายชนิด ที่ทำด้วยกระดูกควายสีขาวและเขาควายสีดำ ราคาอันละ 40 บาท ส่วนที่ทำด้วยไม้สัก ไม้เก็ดแดง ไม้มะเกลือ ราคาต่างกันไป เช่น ไม้สักราคาถูกที่สุดเพียง อันละ 5 บาท เพราะไม้สักเป็นไม้เนื้ออ่อน แกะสลักง่าย ส่วนไม้มะเกลือเป็นไม้หวงห้าม เป็นไม้แข็งและมีน้ำหนักดีมาก ไม้ผั่นทำด้วยไม้มะเกลือจึงมีราคาอันละ 30 บาท

บนโต๊ะของลุงวรรณนอกจากจะมีไม้ผั่นมากมาย ยังมีเครื่องมือเลื่อยไม้และแกะสลักนานาชนิด เรียกว่าลุงวรรณแกะไปขายไปหนุ่มคนหนึ่งเดินเข้าไปถามหาไม้ผั่นที่ทำด้วยเขาควายเผือก ลุงบอกว่าขายหมดไปแล้ว ขอให้หมั่นแวะเวียนมาบ่อย ๆ

ลุงวรรณเดิมเป็นคนเมืองฝาง ย้ายมาอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อ 40 ปีก่อน เดิมเป็นช่างไม้และเป็นสล่าสร้างบ้าน บัดนี้อายุ 69 ปีแล้ว เกษียณตัวเองมาหลายปี ว่าง ๆ จึงนั่งทำไม้ผั่นได้หลายร้อยอันเพื่อจะเอามาขายสำหรับฤดูกาลนี้โดยเฉพาะ

ข้าง ๆ ลุงวรรณเป็นหนุ่มเชียงใหม่อีกคนขายเฉพาะกว่างกิกับกว่างแม่อู้ด สัตว์เหล่านี้อยู่ในขวดน้ำพลาสติกที่ตัดด้านบนออกไปมีอ้อยท่อนเล็ก 3-4 ท่อนอยู่ในขวด ขายตัวละ 5 บาท กว่างแม่อู้ดมีไว้สำหรับปลุกใจกว่างซ้งหรือกว่างฮักให้ชนกัน กว่างแม่อู้ดยังเหมาะสำหรับตั้งกว่าง ส่วนกว่างกิเอาไว้สำหรับตั้งกว่างซึ่งหมายถึงนำไปล่อให้กว่างซ้งหรือกว่างฮักบินมาติด วิธีการตั้งกว่างก็คือ ให้กว่างเกาะอ้อยแล้วนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ตอนกลางคืน หรือใส่ในกะลาที่มีอ้อยหรือกล้วยนำไปแขวนไว้ หรือหากขี้เกียจเดินไปแขวนตามต้นไม้ ก็แขวนตรงชายคาบ้าน

คนที่ทนรอถึงเช้าวันรุ่งขึ้นไม่ไหวก็อาจออกไป “ใจกว่าง” (ใจแปลว่าเยี่ยมเยือน) ยามดึก แต่เวลาที่ดีที่สุดที่จะได้กว่างก็คือ เวลา 4 นาฬิกาเศษ ขืนไปช้ากว่านั้น กว่างใหม่ที่บินมาเกาะหากินอาจจะบินจากไป

ว่ากันว่าเด็กชายที่หลงใหลกว่างอย่างมากจะขยันตื่นเต่เช้ามืดในช่วงนี้ เพื่อหวังจะได้กว่างฮักหรือกว่างซ้งตัวสวย ๆ สักตัวสองตัว และไม่ยอมหลับนอนจนสว่างเพราะตั้งกว่างไว้หลายแห่ง ด้วยเหตุนี้นักเรียนชายวัย 8-10 ปี ที่ตั้งกว่างจึงมักนั่งสับปะหงกในห้องเรียน ครูคนไหนไม่เข้าใจปรากฏการณ์นี้ก็อาจจะปลื้อมใจที่ลูกศิษย์น่ารักขยันอ่านหนังสือจนดึกดื่น

รายที่เจ็ดเป็นหนุ่มเชียงใหม่แต่ขับรถขึ้นไปถึงอำเภอฝางตั้งแต่เช้ามืด ไปได้กว่างเมืองฝางมา 40 กว่าตัว นอกจากกว่างที่วางโชว์อยู่ 20 กว่าตัว เขายังขายอ้อย และกาบกล้วยในราคาเดียวกับของป้านภา

รายที่แปดขายก๋วยเตี๋ยว แต่เจ้าของไม่ราบว่าหายไปไหน แต่ตอนนั้นเวลา 10 โมงกว่า เจ้าของคงเห็นว่าไม่มีใครสั่งอาหารกิน

รายสุดท้ายเป็นคนแม่คาวเช่นกัน ขายกว่าง อ้อย ไม้ผั่นกว่างหลากสีสัน ด้ายกับไม้แกะสลักหลากสี กว่างร้านนี้มาจากเชียงราย แพร่และน่าน คนขายบอกว่ามีคนเอามาส่งทุก ๆ 2-3 วัน บางทีก็มีกว่างมาจากอำเภอเถิน ลำปาง

พิเศษสำหรับร้านนี้ก็คือไม้กอนหรือไม้คอน ซึ่งทำจากไม้ปอเอาเปลือกออก ตรงกลางด้านล่างเจาะเป็นช่องเพื่อให้กว่างแม่อู้ดตัวเมียเข้าไปอยู่ข้างใน ตรงกลางด้านบนของไม้คอนจะมีหลุมเล็ก ๆ ให้กว่างตัวผู้ที่เกาะได้ดมกลิ่นกว่างแม่อู้ด

ไม้กอนยาวตั้งแต่ฟุตเศษไปจนถึง 4 ฟุต ราคาตั้งแต่ 30 บาทไปจนถึง 300 บาท

ที่พิเศษอีกอย่างก็คือ ที่ดื่มกินน้ำตาลของกว่าง ทำด้วยไม้สักแกะเป็นรูปคล้ายปิรามิดแต่ยอดไม่แหลมเปี๊ยบ มีขนาดเท่าฝ่ามือคนด้านบนมีร่องลึกลงไปขนาด 1 คูณ 2 นิ้ว ผมไม่เคยเห็นมาก่อนไม่ว่าจะเป็นที่ไหน นี่ก็คือนวัตกรรมใหม่เอี่ยมของนักเล่นกว่าง คือที่สำหรับกว่างตัวผู้เกาะเพื่อดื่มกินน้ำหวาน เจ้าของจะบีบอ้อยให้น้ำหวานขังในแอ่งนั้น ให้กว่างนักสู้ได้ดื่มกินเป็นการบำรุงกำลัง นวัตกรรมนี้ราคาอันละ 20 บาท

คนที่เดินไปมาในตลาดมีหลายประเภท บ้างก็ไปหาซื้ออ้อย บ้างก็หาซื้อไม้ผั่นและอุปกรณ์อื่น ๆ บ้างก็มาชมกว่างเผื่อเจอตัวที่ถูกใจ หนุ่มลำพูนที่บอกว่าได้กว่างมาจากดอยเต่าคุยว่ากว่าง 2 ตัวที่เขาเพิ่งได้มานี้สวยที่สุด ราคาตัวละ 500 บาท และเล่าว่าเมื่อวานมีคนเชียงรายขับรถมาจากเชียงแสนต้องกลับไปมือเปล่า แต่กว่างงามจากดอยเต่าเพิ่งมาถึงเช้าวันนี้เอง
บางคนนำกว่างมาจากบ้านเพื่อนำมาเปรียบกับกว่างตัวอื่น ๆ คนที่มาตลาดนี้โดยส่วนใหญ่จะคุยกันอย่างสนิทสนมราวกับรู้จักกันมาหลายปี คนที่มีกว่างติดตัวมาก็จะนำกว่างมาเปรียบเทียบสัดส่วนกัน เมื่อเห็นว่าขนาดพอเป็นคู่ต่อสู้กันได้ โดยดูที่ขนาดลำตัว ความยาวและความหนาของเขาบนและเขาล่าง การชนกว่างก็เริ่มขึ้น

ราว 11 โมง ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งบอกว่าเป็นคนเมืองแพร่นำกว่างของเธอลงไม้คอนด้านหลังที่นั่งของลุงอ้วน ชายอีกคนทรุดนั่งตรงข้ามปล่อยกว่างฮักลงบนไม้คอนท่อนเดียวกันเท่านั้นเอง หนุ่มน้อยใหญ่ก็เข้าห้อมล้อมโดยอัตโนมัติ

ผลัดเปลี่ยนกันดมกว่างแม่อู้ด เจ้าของกว่างทั้งสองฝ่ายใช้ไม้ผั่นหมุนหน้าเขาซ้ายขวาและหมุนด้านข้างลำตัวเพื่อให้กว่างเดินหน้าถอยหลังและเลี้ยวซ้ายขวา ตลอดจนใช้ไม้ผั่นงัดด้านหน้าของกว่างเพื่อให้กว่างงัดตอบ เป็นการอุ่นเครื่องเหมือนนักมวยและนักกีฬาทั่วไปราว 3-4 นาที ขณะเดียวกันก็เอามือข้างหนึ่งป้องไว้มิให้กว่างอีกตัวเข้ามาชน

จากนั้นการต่อสู้ก็เริ่มขึ้น กว่างทั้งสองกางเขาบนล่างออก แล้วหาจังหวะเข้าหนีบฝ่ายตรงข้าม จังหวะฝีมือก็วัดกันตรงนี้ นั่นคือ ตัวที่เก่งกว่าต้องเลือกมุมเข้าหนีบให้ถนัด นั่นคือเขาล่างสอดลึกเข้าไปที่ยอดอกของคู่ต่อสู้ หรือหนีบที่โคนขา กว่างมี 6 ขา ขณะที่เขาหนีบ ก็จะออกแรงดัน ขาหน้าทั้งสองก็จะตะปบขาของคู่ต่อสู้เพื่อเกาะที่มั่นหรือกดขาของคู่ต่อสู้ไว้

เมื่อทั้งสองสวมเขาเข้าหนีบกันพอดี ๆ เรียกว่ากำลังคามกัน กว่างทั้งสองฝ่ายก็จะออกแรงหนีบและดันกันอย่างดุเดือด พร้อมกับส่งเสียง ซี้ ซ้า… ซ้า…ระหว่างนั้น กติกาคือเจ้าของกว่างทั้งสองฝ่ายจะไม่มีสิทธิใช้ไม้ผั่นไปถูกร่างกายส่วนของกว่าง แต่จะใช้ไม้ผั่นเคาะไม้กอนหรือหมุนไม้ผั่นกับไม้กอน เกิดเสียงดังระรัวปลุกเร้าใจนักสู้ของกว่างและผู้ชม

โดยทั่วไป การต่อสู้จะเริ่มต้นใหม่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยไปติดด้านหนึ่งของไม้กอน หรือถูกหนีบ ขาหลุดลอยตัวกลางอากาศแล้วผลัดตกลงจากไม้กอน

การต่อสู้แต่ละครั้งจะนับเป็นคามแลฃะมักจะให้สู้กัน 8 คาม หากไม่มีฝ่ายใดถอยหนี ก็ถือว่าเสมอกันไป แต่บางครั้งเจ้าของอาจจะตกลงกันว่า สู้กันสัก 2-3 คามเป็นการจามกัน (จามแปลว่าการทดลองชนกันเพื่อดูลีลาไม่เอาจริง)

ท่ามกลางเสียงซี้ ซ้า ซี้ ซ้า เสียงไม้ผั่นระรัว และเสียงเฮเป็นระยะของกองเชียร์ผมก็ได้เห็นผู้คนต่อสีนั้น รองสีนี้ หรือเสมอสีนั้น (ตามสีเสื้อของเจ้าของกว่าง) 20, 30, 50, 100 บาท ตามความเข้มข้นของการโรมรันพันตู

เจ้ากว่างซ้งของสาวเมืองแพร่ดูจะหนากว่านิดหน่อย จึงมีคนต่อ 5-4 กระทั่ง 3-2 แต่เมื่อผ่านไป 4 คาม เจ้ากว่างฮักของชายเสื้อสีน้ำเงินก็ยังทะมัดทะแมง ไม่ยอมแพ้ กระทั่งสามารถหนีบกว่างเมืองแพร่ให้ลอยขึ้นกลางอากาศได้ ราคาก็ลดลงมาที่เสมอกันสำหรับคนที่พนันตอนหลัง

แต่แล้วเจ้ากว่างฮักก็ถอยหนีไปในคามที่หกของการต่อสู้

คราวนี้ ก็มีการชนกว่างให้ชมอีกหลายคู่ติดต่อกัน เหมือนกับจะบอกว่ายิ่งถึงเวลาพักเที่ยง ที่จะมีคนมามากขึ้น เวทีนี้รับรองว่าสู้กันมันหยดแน่นอน

แรก ๆ ผมเห็นเขาเอากว่างมาชนกันนึกว่าแถวนี้ ไม่มีการเล่นพนัน ที่ไหนได้ครับสักพักเดียว แบ๊งค์ 20 บาท 50 บาทก็ปลิวว่อน แต่แน่นอนว่า ปริมาณเงินที่พนันกันต้องมีน้อยกว่าที่บ่อนชนกว่างจริง ๆ หลายเท่า

11.50 น. ผมเห็นสามเณร 4 รูปเดินในเพิงขายไม้กอน ผมจึงเข้าไปสังเกตการณ์ที่สุดเณรกลุ่มนี้ก็ซื้อไม้กอนชนิดถูกที่สุด คือ 30 บาทไป 1 ท่อน ผมถามว่ามาจากวัดไหน พวกเณรก็ใจกล้าพอโดยไม่คิดว่าผมจะไปฟ้องเจ้าอาวาส ว่าพวกเขามาจากวัดพระนอนหนองผึ้งสารภี

อืม…นี่แหละครับ สามเณรในล้านนาอายุ 12-14 ปี พ่อแม่ให้ไปบวชเรียน ธรรมเนียมล้านนาดั้งเดิมไม่เคยเคร่งครัดกับสามแณรอยู่แล้วหลายครั้งโดยเฉพาะในอดีต ผมเห็นเณรเดินกลับบ้านไปกินข้าวเย็นร่วมกับพ่อแม่ แล้วก็กลับไปที่วัด

ป้านภาเล่าว่าเธอเริ่มขายอ้อย ขายกว่าง เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วที่บริเวณริมฝั่งน้ำแม่ปิงใกล้สะพานนวรัฐ ที่นั่นมีคนไปเยี่ยมชม ซื้ออ้อยซื้อกว่าง จามกว่าง ชนกว่าง มีสื่อมวลขนนำไปออกรายการโทรทัศน์ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศและชาวไทยไปชมกันเป็นคณะ ๆ

แต่แล้วฝ่ายบ้านเมืองร่วมกับฝ่ายสภาคริสตจักรที่อยู่ใกล้ ๆ ก็เข้าไปตกแต่งพื้นที่ริมน้ำแม่ปิงให้สวยงาม และไม่ยอมให้ตลาดกว่างตั้งที่นั่นอีกต่อไป ส่วนใหญ่ของการผลักไสเกิดจากความเห็นของบางฝ่ายที่ว่าการเอากว่างมาเลี้ยงและนำมาชนกันเป็นการทารุณสัตว์ เป็นความป่าเถื่อนอันหนึ่งของสังคมไทย อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าการเล่นพนันเป็นอบายมุขที่สังคมไทยไม่ควรอนุญาต ดังนั้น การปล่อยให้มีตลาดกว่าง ณ จุดนั้นจึงเป็นความอับอายของบ้านเมือง บ้านเมืองไม่ควรเปิดเผยจุดด้อยเหล่านี้ให้คนต่างชาติได้เห็น และปล่อยให้มีการเล่นพนัน ซึ่งเป็นการมอมเมาเยาวชน

แต่การเล่นกว่าง ชนกว่าง และการเล่นพนักเล็ก ๆ น้อย ๆ มีมาในล้านนาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว เราจะมีท่าทีต่อปัญหานี้อย่างไรก็ควรจะต้องพิจารณาหลาย ๆ ด้าน

สังคมล้านนามีความเป็นชนบทมาก มีป่าเขามาก มีประชาชนอยู่ในภาคเกษตรเป็นจำนวนมาก กว่างเป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน ที่ชาวนารอคอยการเก็บเกี่ยว การเล่นกว่างและชนกว่างจึงเป็นการละเล่นอย่างหนึ่ง

เราควรจะเข้าใจวิถีชีวิตส่วนนี้ของชาวบ้านอย่างไร ใครจะเป็นคนตัดสินให้เขา จะใช้มุมมองแบบตะวันตกเรื่องการทารุณสัตว์ จะต้องปรับระบบการศึกษาอย่างไรให้คนล้านนาเข้าใจ ด้วยเหตุและผล หรือจะควบคุมการละเล่นดังกล่าวให้อยู่ในขอบเขต หรือจะรื้อทิ้งสิ่งเหล่านี้โดยไม่ต้องเปิดการประชุมปรึกษาหารือ หรือจะรื้อทิ้งสิ่งเหล่านี้โดยไม่ต้องเปิดการประชุมปรึกษาหารือ และถือว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องน่าอาย เป็นปัญหาร้ายแรงหรือเพียงเพราะว่าการชนกว่างและเล่นพนักที่โจ่งแจ้งในสาธารณะจึงต้องกำจัด แต่หากเป็นการผลิตยาบ้าหรือซ่องโสเภณีนั้น ไม่ประเจิดประเจ้อ ก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะจัดการ

และถ้าหากจะมีใครรู้สึกอายฝรั่งก็คงต้องถามว่าประเพณีที่พวกฝรั่งปล่อยวัวกระทิงให้วิ่งไปตามถนน ไล่ขวิดคนที่วิ่งอยู่ในซอยแคบ ๆ ทุกปีนั้น หรือการเอาคนต่อยมวยกัน 12-15 ชก หรือเอาฝรั่งมาเล่นมวยปล้ำ หักแขนหักขากระโดดจากเชือกบนเวทีมวย ลงไปใส่หน้าคู่ต่อสู้ที่กำลังนอนเจ็บอยู่ อย่างนั้น เราเรียกว่าฝรั่งทำทารุณกรรมหรือไม่ สังคมควรจะทำอย่างไร ทว่า…สุดท้าย ถ่อค้าแม่ค้าที่ขวายกว่าง ขายอ้อย ขายไม้ผั่นและไม้กอนเหล่านี้ก็ถูกไล่ไปโดยไม่มีจุดหมาย หลายปีก่อน พวกเขาไปตั้งตลาดริมถนนดอยสะเก็ดเก่าหลังสนามฟุตบอลโรงเรียนปรินส์รอยฯ ซึ่งมีต้นฉำฉาร่มครึมหลายต้นว่ากันว่าในที่สุด โรงเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ กับเทศกิจของเทศบาลนครเชียงใหม่ก็ผลักใสอีกครั้ง คราวนี้เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นว่าจุดนั้นอยู่ใกล้โรงเรียนและดึงนักเรียนวัย 8-12 ปี ให้หนีโรงเรียนมาชมกว่างจนไม่เป็นอันเรียนหนังสือ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การที่เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ ผู้คนมีกำลังซื้อมาก กว่างจากที่ต่าง ๆ จึงมีราคาสูงในเมืองนี้ และการที่มีบ่อนกว่างถึง 5-6 แห่งไม่ว่าจะเป็นที่แม่ริม แม่กวง และแม่ก๊ะใต้ ดอยสะเก็ด หางดง และบนถนนพร้าวสายใหม่ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในเมื่อกว่างดี ๆ มีราคาถูกส่งเข้ามาขายที่นี่

ป้านภาเธอบกว่าหลายปีมานี้ เอาอ้อยกับกว่างไปวางขายที่ไหนก็ถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจไล่จับ ประเด็นมีว่าในเมื่อแผ่นดินนี้มีทั้งอุปสงค์คือคนที่อยากเล่นกว่างและชอบชนกว่างกับอุปทานคือมีกว่าง อ้อย ไม้กอน และไม้ผั่น คอยสนอง จังหวัด เทศบาล และฝ่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวควรดำเนินการอย่างไร สังคมจะจัดสถานที่สักแห่งให้การละเล่นนี้ดำเนินต่อไป

บ่าย 5 โมงวันพฤหัสที่ 26 กันยายน ผมไปเยือนตลาดกว่างอีกครั้ง

แทบไม่น่าเชื่อว่าคราวนี้จะมีคนเดินไปมาเต็มตาด เลิกงานแล้วนั่นเองที่ทำให้คนนิยมกว่างทั้งหลายเดินทางไปที่นั่น มีนักเรียนและนักศึกษาเดินไปมาหลายสิบคน มีผู้หญิงบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย

หลังโต๊ะของลุงอ้วน มีคนมุงดูการชนกว่าง 2 กลุ่มใหญ่ แสดงว่ากำลังมีการต่อสู้กันถึง 2 เวที บริเวณเสาของเพิงด้านขวาของลุงอ้วน ผมเพิ่มเห็นประกาศนียบัตรในกรอบสีน้ำตาลเข้ม เขียนว่า สถาบันราชภัฏเชียงรายได้จัดการประชุมและนิทรรศการ เรื่องกว่าง กีฬาพื้นบ้านกับวิถีชีวิตคนล้านนาและแสดงความขอบคุณต่อนายนิยม ชื่นใจดี (ลุงอ้วนของนักนิยมกว่างทั้งหลาย) ที่ได้สนับสนุนการจัดงานครั้งนั้น ประกาศลงวันที่ 23 ตุลาคม 2544

แถมมีลายเซ็นต์ของผศ.พร.มาณพ โฆษิตวิไลธรรม อธิการบดีคนเก่งของสถาบันราชภัฏเชียงราย และนายไพรัช ดิษฐะบำรุง นายกองค์กรกว่างโลก ว้าว…อะไรจะปานนั้น อยู่ที่ไหนนี่

แล้วผมก็เพิ่งมองเห็นรถตู้สีขาวจอดอยู่ข้าร้านของป้านภา รอบรถตู้คันนั้น มีรูปกว่างตัวใหญ่นับสิบตัวติดทั่ว ป้านภาเล่าว่ารถคันนั้นเป็นของเธอ ลุงอ้วนตั้งใจจะขับไปโชว์ที่นิทรรศการเชียงราย แต่ลุงอ้วนไม่สบายเป็นโรคไตเลยอดไป แต่ก็ส่งอุปกรณ์เกี่ยวกับกว่างไปช่วยงาน

แล้วผมก็มองเห็นกล่องพลาสติกแขวนอยู่ที่ร้านป้านภา ข้างในมีกว่างซางตัวเมีย 10 กว่าตัวสีน้ำตาลอ่อนแกมดำกำลังกินอ้อยก็เลยถามว่าเอามาทำไม ป้านภาบอกว่าอุ๊ย ไม่รู้อะไร แกนี่ ญี่ปุ่นมากันที สั่งกว่างซาง กว่างสามเขา และกว่างหนีบอย่างละ 100-200 คู่ “พวกเขามาสั่งกันทุกปี เขาเอาไปทำวิจัย” เธอบอก

หา…นีแปลว่าแล้วกว่างซ้ง กว่างฮัก ที่เป็นนักสู้ชั้นยอดของล้านนาละที่เขาไม่สั่งแปลว่าเขาเคยสั่งหลายปีมาแล้ว และได้ค้นคว้าทำวิจัยจนรู้จักกันหมดแล้วใช่ไหม

นี่แปลว่าที่เรามัวรังเกียจเรื่องทารุณสัตว์และการเล่นพนันและไล่พ่อค้าแม่ค้าขายกว่างขายอ้อย ให้พวกเขาต้องไปเผชิญชะตากรรม โดยฝ่ายบ้านเมืองไม่เคยมีใจคิดจัดหาบริเวณที่เหมาะสมให้เขานั้น ต่างชาติมันเข้ามาทำอะไรเราไปถึงไหนแล้วนี่

แล้วสถาบันอุดมศึกษา 6-7 แห่งในเชียงใหม่รู้จักกว่างกันบ้างไหม…โอ้ บ้านเมืองป้านภาไม่มีเวลาเล่าอีกแล้ว ลูกค้ายืนคอยซื้ออ้อยอยู่นับสิบคน

ผมไปเยี่ยมลุงวรรณ ไม้ผั่นร้อยกว่าอันที่ผมเคยเห็น เหลือ 4-5 อันเท่านั้น ลุงแก้วยิ้มน้อยยิ้มใหญ่บอกว่าวันนี้ได้เงิน 600 กว่าบาท ข้าง ๆ ผมมีเด็กผู้หญิงวัย 6-7 ขวบยืนร้องไห้อยู่มีพี่สาววัยราว 10 ขวบยืนข้าง ๆ ในมือมีท่อนอ้อยและกว่าง 1 ตัวเกาะอยู่ สอบถามปรากฎว่าเป็นครอบครัวเกาหลี แม่พามาเพราะเด็กไทยที่โรงเรียนเอากว่างไปอวดเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนอินเตอร์ฯ เด็ก ๆ ต่างอยากได้จนแม่ต้องพามา

แม่มาหาซื้อกว่างที่ราคาถูกที่สุดคนขายกว่างชาวลำพูนคนนั้นบอกว่าเดิมคิดจะขายตัวละ 30 บาท แต่ลดให้แม่บ้านต่างชาติ ขอตัวละ 20 บาทก็แล้วกัน ปรากฏว่าคุณแม่ยังสาวขอซื้อตัวเดียวให้ลูกสาวคนโต เท่านั้นเอง ลูกสาวคนเล็กก็กรีดร้องที่ไม่ได้ของเหมือนพี่

ผมเลยครวญว่าโถ เจ๊ เงินอีก 20 บาทซื้อให้ลูกสาวอีกคนเถอะ ผมคิดจะซื้อให้จริง ๆ ถ้าหล่อนฟังผม พอดี แกยอม และทันทีที่ลูกสาวคนเล็กได้กว่าง เธอก็หยุดร้องทันที

ใกล้หกโมงเย็น ผมต้องมีธุระไปอีกแห่งหนึ่ง ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ตอนนี้กำลังทำงานให้กองทุนหมู่บ้านก็เข้ามาทักทาย เขามาหาซื้ออ้อยกับไม้ผั่น เขาบอกว่ามีญาติจากกาฬสินธุ์ เอากว่างจากทางโน้นมาให้ 5-6 ตัว เขาบอกว่าคนอีสานไม่รู้จักการชนกว่าง

ผมบอกว่าผมต้องไปแล้ว วันหลังจะกลับมาใหม่ กำลังเดินไปถึงรถ รถตู้ 3 คันก็เข้ามาจอด ผู้ชายหลายสิบคนหน้าตาญี่ปุ่นหรือเกาหลีลงจากรถ มุ่งตรงไปยังโต๊ะขายกว่างแผ่นดินเชียงใหม่หน้าฝนมือครึ้มด้วยเมฆสีเทาทะมึนไปทั่ว
แต่กว่างเรื่องเดียวก็น่าจะทำให้สติปัญญาของเราสว่างไสว ไม่ควรจะหม่นมัวเหมือนฟ้าหน้าฝนใช่ไหมครับ…






ธเนศวร์ เจริญเมืองตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ

ขอขอบคุณเจ้าของบทความ ไว้ ณ ที่นี้